(โดยกลุ่มจัสต์ คอส ลอว์ คอลเล็กทีฟ)
การแสดงเอกภาพในคุกหรือในศาล เป็นการผสมผสานเทคนิคการไม่ให้ความร่วมมือ (Non cooperation) และการต่อรองแบบหมู่ ที่กลุ่มนักกิจกรรมอาจจะนำไปใช้เพื่อเป็นการดูแลกันและกันในระบบกฎหมาย จุดผกผันของการแสดงเอกภาพเกิดขึ้นได้ก็เพราะว่าคุกหรือว่าศาลนั้น ถ้าจะดำเนินการไปได้อย่างราบรื่นก็ต้องให้คนเซื่องหรือว่าง่าย คุกคาดหวังว่านักโทษจะยอมเข้าแถว และเดินไปยังที่ที่พวกเขาถูกสั่งให้ไป ศาลคาดหวังว่าจำเลยจะนั่งเงียบๆ และยอมสละสิทธิที่จะให้มีการไต่สวน ทั้งสองระบบนี้ต่างก็ไม่ได้ถูกกำหนดให้รับมือกับกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่มีการจัดตั้ง ซึ่งพูดว่า “ไม่ เราจะไม่ทำ” ดังนั้น เมื่อนักกิจกรรมไม่ยอมให้ความร่วมมือ และเจรจาเรียกร้องเป็นกลุ่ม เจ้าหน้าที่ก็อาจจะถูกบีบให้ยินยอมตามข้อเรียกร้อง แน่นอนว่าข้อเรียกร้องต้องเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ในเรือนจำหรืออัยการสามารถทำตามได้ การแสดงเอกภาพในคุกหรือในศาลไม่ได้ช่วยยุติเรื่องอาวุธนิวเคลียร์หรือโลกาภิวัตน์ของบรรษัทข้ามชาติ
ข้อเรียกร้องแบบทั่วไป
- คนทุกคนที่ถูกจับในเหตุการณ์เดียวกัน จะต้องมีการข้อหาที่เหมือนกันและมีการพิพากษาเหมือนกัน ไม่ใช่ปล่อยให้คนบางคน (เช่นผู้นำ หรือคนอเมริกันเชื้อสายอาหรับ) ถูกจับแยกให้ได้รับการปฏิบัติที่โหดร้ายกว่า
- คนที่ถูกจับกุมที่ป่วยหรือได้รับบาดเจ็บต้องได้รับการรักษาโดยทันที
- คนที่ถูกจับขังเดี่ยวต้องถูกนำมาถูกขังรวมกับคนอื่นๆ ในกลุ่ม
ข้อเรียกร้องจะต้องอธิบายให้แก่เจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน และต้องหนุนหลังด้วยยุทธวิธีไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งในทางกายหรือในทางกระบวนการ
ยุทธวิธีไม่ให้ความร่วมมือในทางกาย
- ไม่ยอมหยุดท่องคำบางคำ ไม่หยุดร้องเพลง หรือเต้นรำ
- ไม่ยอมทำตามคำสั่ง (ถ้าพวกเขาบอกให้ยืน เราจะนั่ง ถ้าเขาบอกให้เข้าแถว เราก็จะกระจายกันไป)
- ไม่ยอมขยับตัวอะไรเลย
- ไม่ยอมสวมเสื้อผ้า
- ไม่ยอมกิน (แต่อย่าอดน้ำ)
ในการเลือกยุทธวิธีไม่ให้ความร่วมมือ จำเป็นต้องเผื่อพื้นที่ไว้เพื่อยกระดับยุทธวิธี หากว่าข้อเรียกร้องไม่ได้รับการยอมรับ การไม่ยอมกิน (อดอาหาร) มักจะเป็นวิธีสุดท้าย มันเป็นยุทธวิธีที่ยากที่สุด แต่ก็เป็นรูปแบบของการไม่ให้ความร่วมมือที่ทรงพลังที่สุด เนื่องจากพอคนอดอาหารแล้ว การสื่อสารหรือการตัดสินใจจะยากลำบากขึ้น จึงควรมีคนอย่างน้อยหนึ่งคนในแต่ละกลุ่มที่เว้นการอดอาหารและทำหน้าที่ผู้ดูแลคนที่อดอาหาร “ผู้ที่ถูกกำหนดให้กินอาหาร” ต้องช่วยอำนวยการประชุมและการสื่อสารกับกลุ่มผู้สนับสนุน นักกฎหมาย สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ แน่นอนการอดน้ำเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาด เพราะการเจรจาต่อรองมักจะยาวนานเกินกว่าคนจะรอดอยู่ได้โดยไม่ดื่มน้ำ
การไม่ให้ความร่วมมือในทางกระบวนการ
- ไม่นำบัตรประชาชนไป และปฏิเสธที่จะบอกชื่อ หรือตอบคำถามอื่นๆ (เจ้าหน้าที่จึงต้องขังพวกเขาไว้)
- ไม่ยอมรับปากว่าจะไปปรากฏตัวในศาล (เหมือนกัน เจ้าหน้าที่ก็ต้องขังพวกเขาไว้)
- เรียกร้องให้ศาลแต่งตั้งทนายโดยไม่เสียเงิน เพื่อเป็นตัวแทนของจำเลยที่มีรายได้น้อย (จะขอเช่นนี้ได้ในกรณีที่มีโทษจำคุก ถ้าถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งไม่มีโทษจำคุก (เช่นกฎจราจรบางข้อ) ก็ไม่สามารถทำได้
- ไม่ยอมรับสารภาพว่ากระทำผิด (ดังนั้น เจ้าหน้าที่ก็ต้องให้มีการพิจารณาคดี)
- ไม่ยอมสละสิทธิเพื่อให้มีการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว
- ให้ทนายยื่นคำร้องต่อศาลเป็นจำนวนมากๆ (คำแถลงการณ์เป็นหนังสือ ซึ่งอัยการต้องตอบ) และเรียกร้องให้มีการพิจารณาในศาลหลายๆ ครั้ง
การใช้วิธีแสดงเอกภาพในคุกหรือในศาล
กลุ่มควรจะคิดไว้ล่วงหน้าว่าจะมีข้อเรียกร้องอะไร และจะใช้ยุทธวิธีไม่ให้ความร่วมมือแบบไหนในแต่ละช่วงเวลาของปฏิบัติการ ในคุก และในศาล นักกิจกรรมที่จะใช้ยุทธวิธีแสดงเอกภาพในคุกหรือในศาล ต้องเผื่อพื้นที่ไว้สำหรับคนที่ไม่ต้องการเข้าร่วม ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่สามารถอยู่ในคุกได้ หรือเตรียมตัวสำหรับการพิพากษาได้ ดังนั้นไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเข้าร่วมเพื่อที่จะให้การแสดงเอกภาพประสบผล มันเพียงแค่ต้องการคนจำนวนหนึ่งที่มากพอที่จะหนุนหลังการเจรจาได้ ความแข็งแกร่งของเอกภาพมาจากการยินยอมโดยสมัครใจของคนทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วม และมาจากการสนับสนุนที่ให้กับคนที่ไม่สามารถเข้าร่วมได้
เอกภาพนั้นสำคัญเป็นพิเศษเมื่อทำงานกันแบบพันธมิตร เพราะจะช่วยป้องกันสมาชิกที่อาจจะได้รับการปฏิบัติที่เลวร้ายกว่าคนอื่น เช่น
- (กรณีสหรัฐอเมริกา) คนที่ไม่ใช่พลเมืองอเมริกัน หรือเพิ่งเป็นพลเมือง หรือคนมุสลิม หรือคนอาหรับ
- คนผิวสี คนที่เป็นเกย์ เลสเบียน แปลงเพศ และคนที่พิการ
- คนที่ถูกถือว่าเป็นผู้นำ
- คนที่โดดเด่น หรือคนที่ถูกขังแบบห้ามออกจากห้องขัง
- คนที่แต่งตัวแบบพั้งค์หรือแต่งชุดดำ
- คนที่อยู่ระหว่างการคุมประพฤติ
- คนที่เคยถูกจับมาก่อนหรือเคยได้รับคำพิพากษา
เอกภาพในคุกหรือในศาลมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการประชุมกันอย่างดี และใช้เวลาในการฟังกันและกัน อย่าให้ตำรวจ เจ้าหน้าที่เรือนจำ หรือทนายมาเร่งให้กลุ่มตัดสินใจอย่างรวดเร็วโดยเด็ดขาด นักกิจกรรมอาจจะต่อรองขอเวลาเพิ่มได้อีกเกือบทุกครั้ง ยิ่งกว่านั้น เป็นการง่ายกว่าสำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะให้เวลากับกลุ่มอีกสิบห้านาทีเพื่อที่จะได้มติเอกฉันท์ แทนที่จะต้องมาจัดการคนจำนวนมากที่คิดเห็นไปคนละทิศละทาง
โดยคัทยา โคมิซารัก (2004)
กลุ่มจัสต์คอส ลอว์ คอลเล็กทีฟ