บ่อยครั้งที่ดูเหมือนว่าไม่ว่าเราจะทำอะไร สื่อมวลชนกระแสหลักก็ไม่ให้ความสำคัญกับนักกิจกรรมของเรา และเมินเฉยต่อความห่วงใยเรื่องประชาธิปไตยแท้จริงและกระบวนการประชาธิปไตย บางครั้งสื่อมวลชน “ทางเลือก” ก็ไม่ให้พื้นที่และความเอาใจใส่แก่เราอย่างที่เราคาดหวังจากพวกเขา ทำให้นักกิจกรรมหลายคนสงสัยว่าสื่อมวลชนนั้นคุ้มค่าความพยายามของเราหรือไม่ และก็น่ารำคาญเหมือนกันเวลาที่เราพบคนที่พูดอะไรอย่างเช่น “ทางเดียวที่จะทำงานได้ผลก็คือต้องได้สื่อมวลชนกระแสหลักมาลงข่าวให้” หรือคนที่เสนอว่าถ้างานของเราไม่ปรากฏในสื่อมวลชนกระแสหลักแล้ว ก็จะเป็นการเสียแรงเปล่า ทัศนคติเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกอยากจะหลีกเลี่ยงการทำงานด้านสื่อไปเลย ซึ่งก็เป็นปฏิกิริยาที่สมเหตุผล ในบทนี้จะช่วยให้คุณสามารถควบคุมความสัมพันธ์กับสื่อมวลชน และคิดถึงวิธีการที่แปลกใหม่และน่าพึงพอใจ ที่จะนำพวกเขาเข้ามา
ทำไมต้องทำงานสื่อมวลชน
ปฏิบัติการหลายครั้งที่เราทำนั้น เราตั้งใจจัดขึ้นในช่วงเวลากลางวันและในพื้นที่สาธารณะ ทั้งนี้ก็เพื่อดึงดูดให้คนสนใจความคิดของเรา เพื่อกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาอย่างเป็นประชาธิปไตย และเพื่อทำให้ความไม่เห็นด้วยของเรากลายเป็นประเด็นที่ท้าทาย การทำงานด้านสื่อมวลชนเป็นสิ่งที่เราเพิ่มเติมเข้าไปในเป้าหมายเหล่านั้น
สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือหนึ่งในหลายๆ อย่างที่เราใช้ให้การศึกษา ให้ข้อมูล และปลุกพลังของประชาชน ลองคิดถึงความรู้สึกของคุณเมื่อคุณได้อ่านบทความดีๆ หรือได้เห็นโปสเตอร์ใหม่ๆ ในแถวๆ บ้านของคุณเกี่ยวกับประเด็นที่คุณเป็นห่วง เช่นเดียวกัน การได้เห็นความคิดเห็น ค่านิยม หรือโครงการของเราตีพิมพ์ออกมาให้ปรากฏ มีภาพประกอบสวยงาม และปลุกเร้าความสนใจของนักข่าวจะตอกย้ำความรู้สึกแบบเดียวกันนี้ และมันก็จะช่วยเผยแพร่สิ่งที่นักกิจกรรมกำลังดำเนินการอยู่ สื่อสารมวลชนที่ดีจะช่วยให้คนเข้าใจว่าพวกเราทำไปทำไมและทำอย่างไร นอกจากนี้การทำงานสื่อมวลชนก็จะช่วยเพิ่มพูนทักษะ เพราะว่าบางครั้ง ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ เราก็จะถูกสถานการณ์บังคับให้ทำอยู่ดี และในบางเวลา เราอาจจะต้องการเพิ่มงานด้านสื่อมวลชนให้มากขึ้นอีก
ถ้ากลุ่มของคุณสะดุดตามาก (เสื้อผ้า ถือหุ่นกระบอก ฯลฯ) เป็นไปได้มากที่คุณจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน และคุณก็จะจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อม ก็ดีอยู่หรอกที่คุณพยายามเรียกความสนใจจากสื่อมวลชน แต่มันก็เป็นอันตรายที่คุณต้องเตรียมรับมือ
ในส่วนนี้เราจัดเรียงหัวข้อไว้ดังนี้
1. ภูมิทัศน์สื่อมวลชน
เมื่อเราตัดสินใจที่จะทำงานด้านสื่อมวลชน หรือให้ปฏิบัติการของเรามีงานด้านสื่อเป็นองค์ประกอบหนึ่ง เราย่อมต้องการที่จะคิดถึงสื่อแขนงต่างๆ มากมายที่มีอยู่ ยุทธศาสตร์ด้านสื่อมวลชนจะรวมเอาตัวเลือกมากมายว่าเราจะเลือกนำสื่อไหนมาเข้ามาเกี่ยว สื่อไหนจะไม่นำเข้ามา การตัดสินใจจะต้องทำให้สอดคล้องกับเป้าหมายของปฏิบัติการ ต่อไปนี้จะพูดถึงภูมิทัศน์สื่อมวลชนที่มีอยู่เกือบทุกเมือง
- สื่อมวลชน “กระแสหลัก”/สื่อมวลชนที่เป็นของบรรษัท
- หนังสือพิมพ์รายวัน
- ข่าวโทรทัศน์
- วิทยุ
- สื่อมวลชน “ทางเลือก”
- หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ในเมือง
- หนังสือพิมพ์รายเดือนที่ตีพิมพ์ในละแวกบ้าน ของชนกลุ่มชาติพันธุ์ หรือที่เกี่ยวกับศิลปะ
- นิตยสารรายเดือนในท้องถิ่น
- วิทยุหัวก้าวหน้า
- สถานีโทรทัศน์ชุมชน
- สื่อของนักกิจกรรม
- เว็บไซต์ www.yourtown.indymedia.org (สำนักข่าวทางเว็บไซต์ และ บทความพิเศษ สิ่งตีพิมพ์ วิทยุ วีดีโอ รายการโทรทัศน์)
- วิทยุใต้ดิน
- หนังสือทำมือ หรือหนังสือแจกจ่ายวงจำกัด
- สื่อเพื่อสมาชิกขององค์กรในท้องถิ่น
- เว็บไซต์
- รายชื่ออีเมล
- บอร์ดประกาศในสำนักงาน หอประชุม ศูนย์กลางชุมชน
- จดหมายข่าว (รายเดือนหรือรายสามเดือน)
- สื่อข้างถนน สื่อเพื่อประชาชน หรือ “ศิลปะของชนชั้นแรงงาน”
- โปสเตอร์
- สเต็นซิล
- กราฟิตติ
- ป้ายผ้าแขวนลงมาจากหน้าต่าง ต้นไม้หรือหลังคา
- ใบปลิว แผ่นพับ โปรชัวร์
- เสื้อยืด สติกเกอร์ กระดุม และแผ่นผ้าปะ
การแทรกแซงและความรับผิดชอบ
ไม่มีกลุ่มสื่อมวลชนกลุ่มใดจะสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ (หรือแม้แต่ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขาอยากจะทำได้) การเข้ามามีส่วนร่วมของกลุ่มไหนที่เป็นไปได้ภายในทรัพยากรที่มี (หรือที่หาได้) และในกลุ่มนั้น อันไหนที่น่าจะได้ผลในการบรรลุวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติการ นักกิจกรรมด้านสื่อที่ทำปฏิบัติการจำเป็นต้องทำให้ตัวเองและคนอื่นเข้าใจชัดเจน ว่าอะไรที่พวกตนไม่เต็มใจที่จะรับผิดชอบ ต่อไป นี้เป็นตัวอย่างบางประการของเรื่องที่กลุ่มสื่อมวลชนอาจจะเข้ามารับผิดชอบ
- ทีมสื่อมวลชนจะรับมือกับสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกหลักๆ อย่างเดียวเท่านั้น โดยใช้ใบแถลงข่าว โฆษกที่ได้รับการแต่งตั้ง และการประชุมแถลงข่าว
- ทีมสื่อมวลชนจะมุ่งความสนใจไปที่การจัดตั้งระบบส่งตัวนักข่าวสื่อมวลชนของไอเอ็มซีเข้าพื้นที่
- ทีมสื่อมวลชนจะจดจ่ออยู่กับการทำให้แน่ใจว่าปฏิบัติการทุกครั้งจะมีสารที่ดีๆ สื่อออกไป (ป้ายผ้า สติกเกอร์ แผ่นพับ) และผู้ประสานงานจะคอยเตรียมตัวเข้าขัดขวางสื่อมวลชน
- ทีมสื่อมวลชนจะทำแต่งานเข้าหามวลชนโดยใช้โปสเตอร์และแผ่นพับ ไปยังชุมชนละแวกบ้าน และองค์กรชุมชนที่กำหนดไว้เป็นเป้าหมาย
- ทีมสื่อมวลชนจะมุ่งปกป้องพื้นที่ที่จัดงานให้พ้นจากการกดดันของสื่อมวลชน โดยให้มีผู้รับมือสื่อที่ประจำการอยู่นอกพื้นที่ชุมนุมหรือพื้นที่ปฏิบัติการ
การประสานงาน
พร้อมๆ กับที่ตัดสินใจว่าจะเลือกรับความรับผิดชอบอะไรบ้าง ทีมสื่อมวลชนก็จำต้องแจ้งให้ทุกคนทราบถึงความคาดหวังของตนต่อคณะทำงานคณะอื่นในการปฏิบัติการและงานที่ตนจะทำให้ ทีมสื่อมวลชนจะคาดหวังให้ทีมกฎหมายเขียนแถลงการณ์หรือจัดหาสถิติอะไรให้หรือไม่ ทีมสื่อมวลชนจะ “เป็นตัวแทน” ของนักกิจกรรมทั้งหลายหรือไม่ ถ้าใช่ แล้วจะเป็นตัวแทนของความหลากหลายต่างๆ ในกลุ่มได้อย่างไร ทีมสื่อมวลชนจะต้องพยายามส่งสื่อกระแสหลักเข้าไปในพื้นที่ปฏิบัติการแต่ละครั้งหรือไม่ และที่สำคัญที่สุด ทีมสื่อมวลชนจำเป็นต้องเข้าใจว่านักกิจกรรมคนอื่นๆ อาจจะกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการจัดเตรียมสารที่จะส่งออกไป การจัดเตรียมสารจำเป็นต้องทำร่วมกันและมีคนนอกคณะทำงานสื่อมวลชนมาช่วยด้วย!
การไม่ให้สื่อมวลชนทำงาน
อย่าลืมว่า “การเข้ามา” ของสื่อมวลชนตามภูมิทัศน์ต่างๆ ไม่ได้หมายความว่าสารของคุณได้ถูกส่งผ่านด้วยความเคารพไปสู่นักข่าวในสังกัดของบรรษัทด้านสื่อสารมวลชนเสมอไป ดังนั้นหัวข้อนี้อาจจะหมายถึงเรื่องต่อไปนี้
- การขัดขวางนักข่าวโทรทัศน์ถ่ายทอดสด (หรือถือป้ายข้อความของคุณเหนือศีรษะนักข่าวคนนั้น) ลองดูวีดีโอ We Interrupt This Empire (http://www.videoactivism.org/empire.html)
- พุ่งเป้าไปที่สื่อมวลชน โดยการปิดกั้นทางเข้าออกประตูของเขา หรือทำเสียงหนวกหู จนกว่าพวกเขาจะยอมนำเสนอหรือตีพิมพ์สารของคุณอย่างครบถ้วน
- เล่นเล่ห์กลหรือปั่นหัวสื่อมวลชน (ทำลับๆ ล่อๆ อยู่ที่หน้าต่างแตกเพื่อหันเหความสนใจของพวกเขาไปยังปฏิบัติการอันอื่น)
- ไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนกระแสหลัก (แค่ส่งเอกสารเรียกร้องให้มีการทำปฏิบัติการ เอกสารข้อมูล แนวทางการทำปฏิบัติการ ทางแฟ็กซ์หรือยื่นให้โดยตรง และบอกให้เขาไปดูเว็บไซต์ของสื่อมวลชนอิสระในท้องถิ่น)
- เอาทรัพยากรทุกอย่างที่เกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ไปลงไว้กับสื่อของนักกิจกรรม
การเลือกยุทธวิธีด้านสื่อ
มีช่องทางมากมายที่จะทำให้สารของคุณถูกส่งออกไป บางครั้งกลุ่มหลายกลุ่มหมกมุ่นหรือโน้มเอียงที่จะทุ่มเทอย่างสุดกำลังในการวางแผนและออกไปทำปฏิบัติการ แต่ละเลย (หรือใส่ใจแต่เพียงเล็กน้อย) ที่จะบอกกล่าวออกไปสู่วงกว้างว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ และทำไปทำไม
ไม่ว่าคุณจะเป็นคณะทำงานด้านสื่อสำหรับการชุมนุมขนาดใหญ่ หรือเป็นทีมสื่อมวลชนที่มีคน 2 คนของการประท้วงขนาดเล็กๆ คุณก็สามารถทำงานด้านสื่อได้อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อจะเลือกยุทธวิธี สิ่งที่ต้องพิจารณาลำดับแรกคือเป้าหมายของปฏิบัติการ ลำดับถัดมาก็คือทรัพยากร และลำดับที่สามก็คือดุลยพินิจที่ดีของคุณเองเกี่ยวกับว่าคุณจะยังคงรักษาอารมณ์และเจตนาของนักกิจกรรมคนอื่นไว้ได้แค่ไหน ในตอนที่คุณกำลังผลิตอะไรบางอย่างที่คุณเห็นว่าจะสนุกและมีพลัง จงอย่าลืมว่าการทำอะไรยากๆ เป็นครั้งแรก (เช่นเขียนใบแถลงข่าว) ในที่สุดแล้วก็จะกลายเป็นประสบการณ์ที่ดี! ทีมสื่อมวลชนชุดใหญ่ๆ อาจจะวางยุทธศาสตร์หลายชั้นและซับซ้อน ที่ต้องติดต่อคนนับร้อย แต่ทีมสื่อมวลชนเล็กๆ สำหรับปฏิบัติการของกลุ่มเครือสหาย หรือการจัดงานในระดับท้องถิ่น อาจจะเลือกยุทธวิธีขนาดเล็กลงมา อย่างเช่น
- เชิญนักข่าวศูนย์สื่อมวลชนไอเอ็มซี มาทำข่าวการจัดงานสำหรับเว็บไซต์ท้องถิ่น และตรวจสอบว่าเขามีกล้องถ่ายรูปแบบดิจิตอลมาด้วย เพื่อจะเก็บรูปเวลาเขียนบทความพิเศษ
- ทำตัวเป็นนักข่าวศูนย์สื่อมวลชนไอเอ็มซี
- เลือกหานักข่าวดูจะหัวก้าวหน้าในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและสร้างความสัมพันธ์กับพวกเขา จัดหาข้อมูลเกี่ยวกับงานที่จะจัดขึ้นให้พวกเขา จัดให้มีการสัมภาษณ์ ทักทายพวกเขาเมื่อเดินทางมาถึง ขอบคุณที่พวกเขามาได้ และตามงานพวกเขาต่อไปภายหลังจากงาน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพวกเขาไม่อาจลงเรื่องให้คุณได้) และขอบคุณสำหรับข่าวที่พวกเขาลงให้
- เขียนบทความแสดงความคิดเห็นไปยังหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ทางเลือกในท้องถิ่น หรือสถานีวิทยุ
- ก่อนการจัดงาน จัดให้มีกราฟิตติ เสต็นซิล การเขียนชอล์ค หรือป้ายผ้าที่ประกาศถึงงานที่จะจัด
- จัดทำแผ่นพับและให้ไปแจกตามตลาดนัดเกษตรกรในท้องถิ่น ศูนย์การค้า หรือที่ที่มีคนสัญจรหนาแน่น
- เขียนรายงานสรุปผลการทำปฏิบัติการเพื่อตีพิมพ์ในจดหมายข่าวขององค์กรหัวก้าวหน้าในท้องถิ่น
- ส่งแฟ็กซ์ใบแถลงข่าวไปยังสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกในท้องถิ่น ทั้งก่อนและหลังการทำปฏิบัติการ
2. จัดเรื่องต่างๆให้เป็นระบบ
มีวิธีการมากมายที่คุณจะทำงานด้านสื่อมวลชน และแม้ว่าตัวคุณเองไม่ได้เดินทางไปทำปฏิบัติการก็ตาม! การทำงานด้านสื่ออย่างมียุทธศาสตร์หมายถึงการเริ่มต้นงานสื่อก่อนที่คุณจะออกไปทำปฏิบัติการ ทำงานสื่อในระหว่างปฏิบัติการและ ติดตามสื่ออย่างต่อเนื่องภายหลังปฏิบัติการจบลง
ทีมทำงานด้านสื่อมวลชน
เราต้องแบ่งแยก “บทบาท” หรือ “ทีม” เหล่านี้ให้ชัดเจน เราหวังว่างานของพวกเขาจะหนุนเสริมซึ่งกันและกัน ทีมทำงานด้านสื่อมวลชนเหล่านี้ได้แก่ ทีมสื่อมวลชนในเมืองของเรา ผู้ประสานงานสื่อที่เป็นบทบาทของกลุ่มเครือสหาย ทีมสื่อมวลชนของการปฏิบัติการ และศูนย์สื่อมวลชนไอเอ็มซี
ทีมสื่อมวลชนในเมืองของคุณ:
งานสื่อมวลชนจำเป็นต้องทำก่อนการเดินทางไปร่วมปฏิบัติการ ระหว่างการเดินทาง และหลังจากกลับมาแล้ว ทีมสื่อมวลชนในเมืองของเราจะมุ่งความสนใจออกด้านนอกเป็นหลัก แต่มีบทบาทที่มุ่งสู่ด้านในเป็นสำคัญอย่างน้อยหนึ่งบทบาท นั่นคือบทบาทการเตรียมทีมนักกิจกรรมให้สามารถรับมือกับนักข่าวอย่างมีประสิทธิภาพทั้งที่บ้านและที่สถานที่ทำปฏิบัติการ บางครั้งการเตรียมการก็จัดขึ้นในรูปการอบรมที่มีนักข่าวเป็นองค์ประกอบร่วม หรือในรูปการอภิปรายทั่วไป แทนที่จะทีมสื่อหรือทีมเข้าหามวลชนจะช่วยซักซ้อมให้เอง ต่อไปนี้เป็นหน้าที่อื่นๆ ที่ทีมนี้ทำ
- ช่วยนักกิจกรรมให้พร้อมที่จะพูดกับสื่อ
- จัดหา รวบรวม หรือเขียนประเด็นพูด (ดูรายละเอียดในหัวข้อการทำสาร)
- จัดการฝึกซ้อมหรือการอบรม
- เฝ้าติดตามสื่อมวลชน
- เก็บหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและหนังสือพิมพ์ระดับประเทศ และวิเคราะห์การเสนอข่าว
- อัดเทปการเสนอข่าวโทรทัศน์ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ (หรือการไม่มีข่าว) บางครั้งสิ่งที่พวกนักข่าวนำเสนอก็อาจจะพิลึกๆ ได้เหมือนกัน
- วิเคราะห์การนำเสนอข่าว และนำข่าวนี้แจ้งแก่นักกิจกรรมในท้องถิ่นคนอื่นๆ และกลุ่มเครือสหายที่กำลังทำปฏิบัติการอยู่ ข้อมูลข่าวสารนี้อาจช่วยให้เข้มแข็งขึ้นได้มาก
- กดดันสื่อมวลชนในท้องถิ่นและระดับชาติให้เสนอข่าวปฏิบัติการให้ถูกต้อง
- บอกเป็นนัยแก่สื่อมวลชนท้องถิ่นถึงเรื่องที่น่าสนใจ เช่นการปฏิบัติการ การถูกจับ หรือการบาดเจ็บของนักกิจกรรมจากท้องถิ่น
- เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการเกี่ยวกับปฏิบัติการและความสำคัญของปฏิบัติการ
- ส่งข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับปฏิบัติการระดับมวลชน และการปฏิบัติการระดับท้องถิ่น แก่สื่อมวลชนทางเลือก เช่นศูนย์สื่อมวลชนอิสระ (ไอเอ็มซี) ถ้าจะหาศูนย์ไอเอ็มซีในเมืองของคุณ ให้ไปที่หน้าเว็บไซต์ของศูนย์ไอเอ็มซี (www.indymedia.org) และไล่ดูคอลัมน์ซ้ายมือลงไปเรื่อยๆ
ผู้ประสานงานสื่อมวลชนที่เป็นบทบาทของเครือสหาย:
เป็นไปได้ว่าคนหลายคนในกลุ่มของคุณไม่รู้สึกสะดวกที่จะพูดกับสื่อมวลชน พวกเราส่วนมากไม่คุ้นเคยกับการพูดต่อหน้ากล้องและไมโครโฟน และเกิดอาการตื่นเต้น (ซึ่งกลายเป็นว่ามันทำให้เราดูเฉียบคมน้อยกว่าหรือมีพลังน้อยกว่าความเป็นจริง)
เราขอแนะนำให้คุณจัดให้มีผู้ประสานงานสื่อมวลชน คนคนนี้ควรคุ้นเคยกับประเด็นพูด (หาได้จากเว็บไซต์หรือกลุ่มของคุณอาจจัดเตรียมเอง) และสามารถพูดกับสื่อมวลชนได้อย่างสะดวก แต่ ทุกๆคน ในกลุ่มของคุณควรมีความรับผิดชอบที่จะต้องสามารถตอบคำถามว่า “วันนี้คุณออกมาทำไม” เวลามีไมโครโฟนยื่นใส่หน้า หลังจากนั้น คนคนนั้นก็ต้องรีบส่งสื่อมวลชนไปหาผู้ประสานงานสื่อมวลชนของกลุ่มโดยไม่ลังเล นี่เป็นบทบาทสำคัญ และผู้ประสานงานสื่อมวลชนที่ดีจำเป็นต้องมีการฝึกหัดอย่างจริงจัง นี่เป็นบทบาทสำคัญสำหรับคนที่ต้องการเรียนรู้เพื่อพัฒนาให้ตัวเองมีความเข้าใจต่อประเด็นที่จะปฏิบัติการแหลมคมยิ่งขึ้น เพราะคุณจำเป็นต้องฝึกซ้อมประเด็นพูด และต้องฝึกอธิบายเรื่องซับซ้อนด้วยคำพูดกระชับให้เก่ง
ต่อไปนี้คือเคล็ดลับของการเป็นผู้ประสานงานสื่อมวลชนที่ดี (จาก บทความ Spin Works! โดยโรเบิร์ต เบรย์)
- คุณมีอะไรบางอย่างที่สำคัญที่จะต้องพูดออกไป และคุณต้องการให้ประชาชนรับฟัง จงมั่นใจในตัวเอง และดึงดูดความสนใจของพวกเขา
- นึกสารที่จะพูดเอาไว้ในใจก่อนการสัมภาษณ์
- อย่าถูกคำถามของพวกเขาลากจูงไป หันเหคำถามของพวกเขาให้เข้าสู่สารหลักๆ ของคุณ
- อย่าพยายามอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างในประโยคเด่นที่คัดมาจากเอกสารของคุณ หรือในการสัมภาษณ์ ให้พูดแต่สารที่เตรียมไว้
- ถ้าคุณพลาด ก็ไม่เป็นไร ถามนักข่าวว่าจะเริ่มใหม่ได้หรือไม่ ยกเว้นถ้าเป็นการถ่ายทอดสด (ซึ่งมักจะไม่ใช่)
- ฝึก ฝึก และฝึก และถ้าคุณทำยุ่งเหยิงไปหมดก็ไม่ต้องกังวล ถึงอย่างไรขบวนการเคลื่อนไหวก็ไม่ล้ม
สื่อมวลชนอิสระ (ไอเอ็มซี):
ลองเป็นสื่อกับศูนย์สื่อสารมวลชนไอเอ็มซี ถ้ายังไม่มีศูนย์ไอเอ็มซีในเมืองที่ทำปฏิบัติการ ก็มักจะมีการตั้งศูนย์ชั่วคราวขึ้นในท้องถิ่นโดยคนของไอเอ็มซีจากเมืองอื่น ลองหาว่าศูนย์ไอเอ็มซีตั้งอยู่ที่ไหน (ถามที่ศูนย์ต้อนรับ) และลองแวะไปดูเผื่อว่าจะได้มีส่วนร่วมได้ มีบทบาทหลายอย่างให้ทำ ลองประเมินทักษะของคุณดู บางทีคุณอาจจจะไม่รู้สึกตื่นเต้นอยากจะเป็นโฆษกสื่อมวลชน แต่คุณก็อาจจะมีความรู้ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่สำคัญ หรือพิมพ์ดีดเก่ง ที่ศูนย์ไอเอ็มซีต้องการให้คุณช่วย
- เข้าร่วมทีมผลิตวิดีโอสั้นๆ หรือหนังสือพิมพ์รายวันท้องถิ่น
- ดูแลความปลอดภัยของการทำงาน
- สนับสนุนด้านเทคนิคให้กับคอมพิวเตอร์ของศูนย์
- รับโทรศัพท์ รับรายงานที่มาจากท้องถนนและนำส่งสำนักข่าว
- แปลเอกสารและรายงานเป็นภาษาอื่น
- เป็น “คนวิ่งวิดีโอ” ตรงดิ่งไปยังปฏิบัติการ รับเอาเทปบันทึกจากช่างภาพวิดีโอ และนำมาส่งอย่างปลอดภัยที่ศูนย์ไอเอ็มซี
ทีมสื่อมวลชนของการปฏิบัติการ:
นี่ไม่เหมือนกับสื่อมวลชนไอเอ็มซี ปกติแล้วคณะกรรมการจัดปฏิบัติการทางตรงจะจัดตั้งทีมสื่อมวลชนขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง เพื่อที่จะรับมือกับคำถามของสื่อมวลชนและจัดการประชุมแถลงข่าวเป็นการเฉพาะ พวกเขาทำหน้าที่ “ผู้รับมือสื่อ” และติดต่อสื่อสารกับสื่อมวลชนกระแสหลัก พวกเขาต้องการความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น
- การวิเคราะห์สื่อ
- จัดและประชาสัมพันธ์การประชุมแถลงข่าว
- เขียนเอกสารแถลงข่าว
- ไปออกสื่อทางโทรศัพท์หรือวิดีโอ
- ติดต่อและติดตามงานนักข่าวอย่างต่อเนื่อง
- หานักกิจกรรมที่มาจากกลุ่มที่หลากหลายและพูดเก่งมาทำการสัมภาษณ์
การประเมินขุมกำลัง
คณะทำงานด้านสื่อจำเป็นต้องทำการประเมินขุมกำลังของตนอย่างถี่ถ้วน กล่าวคือ
- คนของเรามีทักษะหรือไม่ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่เป็นของบรรษัทใหญ่ซึ่งมักจะบิดเบือนถ้อยคำ ถ้ามี สื่อมวลชนต่อไปนี้อย่างไหนที่โฆษกของเรารู้สึกสะดวกที่พูดด้วย ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ หรือว่าโทรทัศน์
- คนของเราเต็มใจและสามารถที่จะทำงานประชาสัมพันธ์อื่นๆ กับสื่อกระแสหลักหรือไม่ เช่นการจัดประชุมแถลงข่าว การเขียนเอกสารแถลงข่าว การโทรศัพท์ติดตามงานกับนักข่าวอย่างต่อเนื่อง งานจัดการเช่นจัดเตรียมการสัมภาษณ์ เป็นต้น
- คนของเรามีความสัมพันธ์เป็นอย่างดี กับคนที่ทำงานในสื่อมวลชนทางเลือกในท้องถิ่นหรือไม่ และคนไหน
- มีศูนย์สื่อมวลชนไอเอ็มซีที่ทำหน้าที่อยู่แล้ว หรือมีสถานีวิทยุของนักกิจกรรมหรือไม่
- อะไรที่เราคิดว่าฟังดูน่าสนุก เรามีความกระตือรือร้นที่จะทำอะไร
- คณะกรรมการสื่อมวลชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อจะสร้างสื่อขึ้นมาเองหรือไม่
3. การทำสาร
สารของคุณเป็นหลักสำคัญของยุทธศาสตร์ด้านสื่อของคุณ คุณจำเป็นต้องตัดสินใจว่าอะไรคือแก่นของสิ่งที่คุณต้องการจะบอก เป้าหมายของสารคือการจับแก่นสำคัญที่สุดของประเด็นของคุณ นำเสนอในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่าย สารที่ดีจะใส่วิธีที่คุณวางกรอบประเด็น ท่าทีของคุณต่อประเด็น และการเรียกร้องให้มีปฏิบัติการไว้ในนั้น สารไม่ใช่ “ข้อมูลและประเด็นเต็มรถบรรทุกนั่นที่คุณอยากจะเทใส่ประชาชนอเมริกัน” อย่างที่จิม ไฮทาวเวอร์ยืนยัน แต่มันคือข้อมูลเต็มรถบรรทุกที่เคี่ยวจนงวด และแสดงออกในแบบปลุกเร้าเพื่อที่คนได้รับสารจะจดจำสารนั้นได้ ขอให้ใช้จินตนาการว่าจะจัดแสดงและนำพาสารของคุณไปได้อย่างไร ความเป็นไปได้มีอย่างไร้ที่สิ้นสุด บางครั้งคนก็ให้ความสนใจสารที่อยู่บนสิ่งที่มีขนาดใหญ่เห็นได้ง่าย อย่างป้ายผ้าขนาดใหญ่หรือป้ายสัญลักษณ์
เคล็ดลับในการทำสาร
(จากหนังสือ Spin Works! โดยโรเบิร์ต เบรย์)
- อย่าตอบคำถามนักข่าว จงโต้กับพวกเขากลับไป
- ยกประโยคเด่น (จากเอกสารต่างๆ ที่คุณจัดเตรียมไว้) มาพูด
- พูดย้ำสารของคุณบ่อยๆ
- ยึด “ที่มั่น” อยู่แต่ในสารของเรา
- จัดทำ “คำหลักๆ ของสาร” และท่องไว้เป็นคาถาประจำตัว
- สารที่ดีจะถูกส่งไปยังผู้รับสารอย่างต่อเนื่องและผ่านสื่อหลากหลาย เช่นป้ายผ้า ป้ายสัญลักษณ์ โปสเตอร์ ประโยดเด่น เพลง คำโห่ร้องเชียร์ การวาดชอล์ค และอื่นๆ
- ถ้าคุณกำลังจะออกไปยังท้องถนน คุณอาจจะลองคิดให้ตัวคุณเองเป็นสารเคลื่อนที่ ถึงแม้คุณจะไม่ได้พูดกับคนที่เดินผ่านไปมา สารของคุณก็จะถูกนำเสนอออกไป (จินตนาการถึงผลกระทบจากกลุ่มของคุณ ตอนที่กำลังขึ้นรถไฟไปยังที่ปฏิบัติการ) การทำสารที่ชัดเจนก็จะช่วยได้มาก ตอนที่ช่างภาพถ่ายรูปของคุณเอาไปประกอบเรื่องที่เขียนได้แย่ เพราะคนเขียนไม่สนใจจะคุยกับผู้ประสานงานสื่อของคุณที่เตรียมตัวมาอย่างดี
ประเด็นพูด
ประเด็นพูดถือเป็นการลงทุนอย่างดี เพราะเราจะใช้แล้วใช้อีกในจดหมายถึงบรรณาธิการ ใบแถลงข่าว โปสเตอร์ แผ่นพับ และการสัมภาษณ์
- อย่าพูดติดลมโดยเด็ดขาด และอย่านึกเอาเองตามชอบใจ ไม่อย่างนั้น เป็นไปได้ว่าคุณจะพูดอะไรที่คุณจะเสียใจภายหลัง
- แปลงสารของคุณให้เป็นประโยคเด่น และเป็นภาษาที่ผู้รับสารวงกว้างจะเข้าใจได้
- ประโยคเด่น (soundbite) คือรูปแบบสารของคุณที่สั้นและมีพลังที่คุณจะพูดจบได้ใน 8 – 10 วินาที สำหรับพวกเราส่วนมากแล้ว ประโยคเด่นที่ดีไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง ดังนั้นคุณจึงต้องใช้เวลาที่จะคิดและฝึก
- ยิ่งคุณพูดยาวเท่าไร ก็เป็นไปได้มากขึ้นเท่านั้นที่สื่อจะทำให้คุณดูโง่เง่า ประโยคเด่นควรจะมีการเขียนเตรียมไว้ก่อนและจดจำให้ขึ้นใจ
วิธีการที่ดีที่จะเตรียมพร้อมสำหรับงานสื่อก็คือการเตรียมชุด “ประเด็นพูด” ให้กับทุกๆ คน ประเด็นพูดเป็นเหมือนเค้าโครงสั้นๆ แต่ละประเด็นจะเขียนให้เป็นประโยคที่สมบูรณ์ ไม่ใช่เป็นคำๆ เว็บไซต์ของปฏิบัติการที่ใหญ่ๆ มักจะมีประเด็นพูดอยู่แล้วที่เราจะหยิบมาใช้ได้ เราจะหยิบมาใช้ทั้งดุ้นเลยก็ได้ แต่นักกิจกรรมแต่ละคนอาจจะปรับให้เข้ากับความร้อนแรงและความรู้ของตนเองก็จะดีกว่า ท่องประเด็นพูดให้ขึ้นใจและฝึกพูดซ้ำๆ ก่อนที่นักข่าวจะติดต่อคุณ และในขณะที่อยู่ในงานที่จัดขึ้น จงทำให้ความจำแจ่มใสเข้าไว้เพราะความเครียดมีวิธีของมันที่จะทำให้เราลืมได้ นี่อาจจะฟังดูซ้ำๆ ซากๆ แต่การนำเสนอสารอย่างต่อเนื่องและเรียบง่ายต่อชุมชนของคุณจะช่วยคน “ที่อยู่ข้างนอกนั่น” เข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น
ถ้าเตรียมประเด็นพูดในการประท้วงครั้งใหญ่ให้เชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดในท้องถิ่น จะช่วยทำให้สิ่งต่างๆ เป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เช่น ในไม่ช้ารัฐโคโลราโดก็จะมีการปลูกข้าวโพดที่มีการดัดแปลงพันธุกรรม (“ยาชีวภาพ”) ที่อาจจะมีสารฆ่าเชื้ออสุจิ ซึ่งจะเพิ่มความเชื่อมโยงกับอำนาจของเทคโนโลยีพันธุกรรมและของบรรษัทโดยทั่วไป หรือ ในการประท้วงข้อตกลงการค้าเสรีที่จะเกิดขึ้น เราอาจจะพูดถึงการไปรษณีย์ท้องถิ่นที่จะถูกแปรรูปเป็นเอกชนโดยบรรษัทต่างประเทศ เราอาจจะสร้างความเชื่อมโยงกับเกษตรกรท้องถิ่นที่กำลังย่อยยับไปเพราะนโยบายมากมายที่เรากำลังต่อสู้อยู่
การเล่นยูโดด้านสื่อ
หลักการของยูโดคือการทำให้คนที่มีกำลังด้อยกว่าสามารถเอาชนะคนที่เหนือกว่าได้ ใช้ความอ่อนหยุ่นและความสุภาพ โต้ตอบเอาชนะความแข็งกร้าวหรือความก้าวร้าว ทำให้คนที่มีอำนาจมากกว่าแพ้ภัยตัวเอง นอกจากนี้ ยูโดด้านสื่อยังหมายถึงการทำให้ประเด็นที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนกลายเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ท้าทายโลก ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของการเล่นยูโดด้านสื่อ
ถาม: “คุณออกมาที่นี่เพื่อจะถูกจับหรือ”
ตอบ: “ฉันไม่ได้มาที่นี่เพื่อจะถูกจับ เราไม่ได้ต้องการเข้าคุก แต่เรายินดีที่จะเอาเสรีภาพของเราเข้าเสี่ยงเพื่อจะช่วยให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต”
อย่าได้รู้สึกว่าเป็นภาระผูกพันที่ต้องตอบคำถามยากๆ คุณอาจจะยกเอาประโยคเด่นในเอกสารที่เกี่ยวข้องมาตอบก็ได้
ถาม: “คนที่นี่กี่คนที่กำลังจะถูกจับ”
ตอบ: “พวกเรามาที่นี่เพื่อปกป้องป่าต้นเร้ดวูดโบราณที่หลงเหลืออยู่แห่งสุดท้าย”
มักจะมีการตอบโต้ระดับคลาสสิกอยู่เสมอ
“ฉันขอเลือกไม่ให้สัมภาษณ์ ให้ฉันแนะนำคุณให้รู้จักกับคุณ… ที่เป็นผู้ประสานสื่อมวลชนของเราดีกว่า”
ฟังให้ออกว่าคำถามนั้นเกิดจากการสันนิษฐานด้านลบ ดึงมันออกมาให้เห็นกันชัดๆ และทำให้มันเป็นกลางๆ ตัวอย่างเช่น
ถาม: “คุณไม่ผิดหวังเหรอที่วันนี้ อัตราคนออกมาร่วมมีน้อย”
ตอบ: “จริงๆ แล้วเราประหลาดใจทีเดียวว่าคนมาที่นี่มากมายขนาดนี้ ทั้งที่บอกกล่าวกระชั้นมาก”
ถาม: “คุณคิดว่าความเชื่อของคุณจะยอมให้คุณละเมิดกฎหมายได้หรือ”
ตอบ: “บางครั้งพวกเราเชื่อในการละเมิดกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ เพื่อปกป้องเสรีภาพหรือว่าชีวิตของเราจริงๆ นี่เป็นหลักการของการดื้อแพ่งซึ่งพัฒนาขึ้นมาโดยชาวอเมริกันที่ยิ่งใหญ่สองท่านคือเฮนรี่ เดวิด เธอโร และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์”
การฝึกซ้อม
ยากเหมือนกันที่จะย้ำให้เห็นว่าการท่องจำประเด็นพูดกับประโยคเด่น และซ้อมพูดให้คนอื่นเข้าใจภายใต้ความกดดันนั้นสำคัญขนาดไหน พวกเราบางคนก็ไปเข้าอบรมที่นักกิจกรรมใช้กล้องวิดีโอบันทึกภาพจริงเพื่อฝึกหัดและเอามาวิพากษ์วิจารณ์กัน นี่ยากกว่าที่คุณคิดเสียอีก และพวกเราส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ “พูดเป็นธรรมชาติ” ด้วย ลองใช้วิธีเหล่านี้ดู
- ฝึกซ้อมหน้ากระจก
- ฝึกซ้อมกับเพื่อน เล่นบทบาทสมมติว่ากำลังถูกสัมภาษณ์
- ฝึกซ้อมกับปากกาใช้แทนไมโครโฟน ให้เพื่อนถือมันยื่นใส่หน้าคุณแล้วถามคำถามแบบมีเล่ห์เหลี่ยม
- ถ้าคุณมีการส่งสารที่สะดุดตาบนตัวของคุณ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของการแต่งกาย (ขอแนะนำให้คุณทำแบบนี้อย่างยิ่ง) ลองขยับตัวไปมาให้มันมองเห็นได้ชัดๆ เด่นแค่ไหนเวลาออกกล้อง และอ่านได้สะดวกหรือเปล่า
- ตอนที่คุณฝึกซ้อม ให้นึกเอาไว้ถึงคำตอบ 2 ประเภทที่ค่อนข้างง่ายเอาไว้ตอบนักข่าว
- เมื่อคุณไม่ได้เตรียมตัวหรือไม่มีแรงจูงใจที่จะตอบ ก็ส่งต่อให้กับผู้ประสานงานสื่อมวลชน อาจจะเป็นคนที่อยู่ในเมืองของคุณหรือคนที่อยู่ที่การปฏิบัติการก็ได้
- กลับไปหาสารของคุณโดยทันที (คุณก็ไม่ถึงกับต้องระมัดระวังท่าทีมากนักถ้าจะเปลี่ยนเรื่อง ก็ลองฟังวิธีที่พวก สส. ที่คุณเลือกเข้าไปพูดดูสิ) เช่น
นักข่าว: “คุณกำลังวางแผนจะถูกจับกุมใช่ไหม”
คุณ: “ฉันมาที่นี่ก็เพราะวันหนึ่งๆ มีเด็ก 30,000 คนกำลังจะตาย เนื่องจากนโยบายขององค์การการค้าโลกที่ทำให้อาหารเข้าถึงได้ยาก”
เพื่อให้ดูดีขึ้นอีกหน่อย … ก็ย้อนเอาคืนไปยังคำถามด้วย
นักข่าว: “คุณกำลังวางแผนจะถูกจับกุมใช่ไหม”
คุณ: “ฉันมาที่นี่ก็เพราะวันหนึ่งๆ มีเด็ก 30,000 คนกำลังจะตาย เนื่องจากนโยบายขององค์การการค้าโลกที่ทำให้อาหารเข้าถึงได้ยาก ถ้าตำรวจเลือกที่จะจับกุมฉัน นี่เป็นแค่สิ่งเล็กน้อยที่ต้องแลกออกไปเท่านั้นเมื่อเทียบกับความตายของเด็กแม้แต่เพียงคนเดียว”
มันฟังดูชัดเจนดี และก็ได้ผล
อย่ากล่าวโทษตนเองหรือเพื่อนของคุณ
เมื่อพูดกับนักข่าว คุณคงไม่ต้องการกล่าวโทษตัวคุณเองหรือคนอื่นๆ โดยบังเอิญ และคุณคงไม่ต้องการจะเสี่ยงกับคดีอาญาที่อาจจะเชื่อมโยงกับกิจกรรมที่คุณได้รู้เห็น
ทำให้เรื่องของคุณเป็นเรื่องสาธารณะ (ข้อมูลที่เป็นคำเตือนต่อไปนี้มาจากกลุ่ม MAD-Miami Activist Defense)
เมื่อประชาชนตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงของตำรวจ หรือถูกละเมิดสิทธิ เป็นธรรมดาที่เขาจะต้องการบอกเล่าเรื่องของตัวเองแก่สาธารณะ องค์กรเอ็มเอดี สนับสนุนให้นักกิจกรรมพูดความจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และบีบให้สื่อมวลชนยอมรับรู้ความโหดร้ายของตำรวจและการปราบปรามของรัฐบาล บ่อยครั้งที่การทำเช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวผู้ตกเป็นเหยื่อ (การระบายความคับแค้นออกมา) และต่อ “มูลเหตุของเรื่อง” (ให้หลักฐานและทำให้เป็นได้ที่จะเผยแพร่การถือสิทธิใช้ความรุนแรงโดยตำรวจออกไป) อย่างไรก็ดี ยังมีปัญหาบางประการที่จะเกิดขึ้น ถ้าคนเปิดเผยเรื่องราวของตนเองต่อสาธารณะก็อาจจะส่งผลต่อคดีอาญา (อาจจะเป็นคดีที่มากกว่าแค่คดีของเหยื่อคนนั้น) และส่งผลต่อการเรียกร้องสิทธิพลเมืองอื่นใดที่จะกระทำในอนาคต ทันทีที่เรื่องของคุณปรากฏออกไปหรือแบ่งปันให้รับรู้กันในที่สาธารณะ (ทางหนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต หรืออื่นๆ) มันก็ไม่มีเอกสิทธิความเป็นส่วนตัวที่ไม่เปิดเผยอีกต่อไปแล้ว ซึ่งเอกสิทธินี้อาจจะยังคงมีอยู่ถ้าคุณเล่าให้เอ็มเอดีหรือทนายของคุณฟัง ข้อมูลเหล่านี้อาจย้อนคืนมาเพื่อหลอกหลอนคุณและคนอื่นได้
คำแนะนำต่อไปนี้คุณนำไปใช้ประโยชน์ได้
- พยายามหาคำแนะนำจากทนายความว่าเรื่องราวของคุณจะส่งผลกระทบต่อคดีอาญาของคุณและของคนอื่นอย่างไร และมันอาจจะส่งผลต่อการเรียกร้องทางแพ่งของคุณและคนอื่นๆ อย่างไร
- โดยทั่วไปแล้ว การระบุชื่อคนอื่นในเรื่องราวของคุณไม่เป็นประโยชน์เลย และตัวคุณเองก็อาจจะอยากใช้นามสมมติด้วย
- คุณควรเชื่อมโยงชนิดของความรุนแรงที่กระทำต่อคุณเข้ากับการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น แต่อย่าระบุการกระทำของคุณเองในรายละเอียด
- ถ้าคุณทำเรื่องของคุณให้เป็นเรื่องสาธารณะและให้วิธีการติดต่อไว้ คุณควรเตรียมตัวที่จะรับมือกับคนที่ต้องการถามคำถามและทราบรายละเอียด แต่ไม่ควรรู้สึกว่าเป็นภาระที่จะต้องตอบ เว้นแต่ว่าคุณต้องการ จงจำไว้ว่า คุณเป็นฝ่ายควบคุมสถานการณ์
- จงหลีกเลี่ยงการถกเรื่องนี้โดยเด็ดขาดถ้าข้อกล่าวหาทางอาญายังอยู่ในระหว่างการพิจารณา (ไม่ใช่เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในเรื่องเท่านั้น แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตำรวจแก้แค้นด้วย ในขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา) ถ้าข้อกล่าวหาต่อคุณยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและต้องการที่จะพูดต่อสาธารณะจริงๆ เราขอแนะนำให้คุณปรึกษาองค์กรเอ็มเอดีหรือทนายความของคุณก่อน
ใบแถลงข่าว
ใบแถลงข่าว (หรือข่าวแจก) เป็นวิธีการหลักที่เราจะกระตุ้นความสนใจของสื่อมวลชนต่อกิจกรรมของเรา ความหวังก็คือ ในที่สุดเราจะได้บทความอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่จะทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับประชาชนและทำให้เขาสนใจ (หรือไปร่วมงาน) วิธีที่จะทำอีกทางหนึ่งคือการไปลงไว้ในปฏิทินกิจกรรมของชุมชนให้ทั่วเมือง หนังสือพิมพ์หรือวิทยุที่สนใจข่าวท้องถิ่นมักจะมีปฏิทินกิจกรรมชุมชน ปฏิบัติการให้ความรู้จะคล้ายๆ กับกิจกรรมบริการสังคม และ “การแจ้งข่าวบริการสังคม” ก็เป็นวิธีการอย่างดีที่จะทำให้สาธารณชนทราบ สื่อมวลชนมักจะให้ความสนใจกับข่าวบริการสังคมเป็นพิเศษ และอาจจะมีทางให้ได้ออกรายการวิทยุสัก 30 วินาทีด้วย
- ก่อนที่คุณจะเขียนใบแถลงข่าวที่แย่ๆ (ซึ่งเขียนได้ง่าย) พยายามหาตัวอย่างใบแถลงข่าวดีๆ สักชิ้นหนึ่ง ลองดูคำแนะนำของเว็บไซต์นักกิจกรรมว่าด้วยการหาประโยชน์จากสื่อมวลชน (An Activists’ Guide to Exploiting the Media) โดยจอร์จ มงเบียต (George Monbiot) มีเคล็ดลับดีๆ ในการเขียนใบแถลงข่าว บางส่วนได้นำมาใส่ไว้ในภาคผนวก
- โทรศัพท์ถึงนักข่าว ภายหลังจากส่งใบแถลงข่าวแล้ว
- รวบรวมและรักษาบัญชีรายชื่อติดต่อสื่อมวลชน คุณจะได้รู้ว่าใบแถลงข่าวของคุณควรจะส่งไปที่ไหนและถึงใคร
- กลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในชุมชนมาเป็นเวลานาน และ/หรือที่เคยทำการสร้างสัมพันธ์นักข่าวเป็นผู้ที่เราควรทำความรู้จักอย่างยิ่ง
การประชุมแถลงข่าว
การจัดการประชุมแถลงข่าวดีๆ นั้นไม่ได้ยากเกินไป แต่คุณก็ยังคงต้องคิดให้ถี่ถ้วน และทำแผนการออกมา
- เลือกสถานที่ที่ไปมาง่าย (ที่สนามหญ้าหน้าศาลหรือห้องสมุดก็ดี)
- เลือกเวลาที่เหมาะสม (ภายในสองสามชั่วโมงหลังจากการพูดคุยกันในงาน)
- ส่งใบแถลงข่าวของงานนั้นออกไป
- จัดลำดับผู้พูดที่สามารถนำเสนอประเด็นได้อย่างแจ่มชัด ถ้ามี “เหยื่อ” ของประเด็นที่คุณกำลังจัดอยู่ ดูว่ามีใครยินดีจะพูดกับสื่อมวลชนบ้างหรือไม่
- ขอให้ผู้พูดเขียนคำแถลงการณ์และอ่านด้วย
- เชิญคนที่เหมือนกับเป็นพิธีกรมาทำหน้าที่ดำเนินการแถลงข่าว และเรียกคำถามจากนักข่าวด้วย
- ตรวจสอบว่าผู้พูดทุกคนรู้อย่างชัดเจนว่าจะมีความเสี่ยงต่อประเด็นทางกฎหมายใดๆ หรือไม่
แผ่นพับและโปสเตอร์
- จัดหน้าตาประเด็นพูดเสียใหม่ให้มีงานศิลป์และข้อมูลเฉพาะของงานนั้นๆ และแจกจ่ายไปในที่ที่เห็นได้ชัดเจน
- ปึกแผ่นพับที่วางอยู่บนเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้าหรืออะไรทำนองนี้ก็ทำงานได้ผล มีหลายที่ที่ยอมให้เราวางแผ่นพับหรือติดโปสเตอร์
- บางทีการใช้แป้งเปียกก็เป็นวิธีที่ดีที่จะติดโปสเตอร์ของคุณ
- มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เป็นจุดติดโปสเตอร์ที่ดี ให้แน่ใจว่าคนที่ใส่ชื่อไว้ว่าเป็นผู้รับติดต่อสอบถามได้เตรียมตัวที่จะพร้อมอธิบายประเด็นและให้ข้อมูลได้ ก่อนที่จะเอาโปสเตอร์ไปติด เพราะว่าบางครั้งนักข่าวก็จะติดต่อมาเมื่อได้เห็นโปสเตอร์นั้น
- ให้แน่ใจว่าโปสเตอร์ลงเรื่องที่จำเป็นครบแล้ว ให้บอกวิธีการติดต่อสอบถามด้วยเพื่อว่าคนที่สนใจจะถามถึงข้อมูลสำคัญอื่นใดที่คุณอาจลืมใส่ไว้ พยายามตอบคำถาม “ใคร” (ใครควรจะมา ใครจะเป็นผู้สนับสนุนการจัดกิจกกรม ใครที่จะติดต่อเพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติม) “อะไร” (เป็นกิจกรรมอะไร) “เมื่อไร” และ “ที่ไหน” (อย่าทึกทักเอาเองว่าคนที่เห็นโปสเตอร์ของคุณรู้ว่า “คล้าก 301“ แปลว่าอะไร) และ “อย่างไร” เป็นพิเศษสำหรับคนเข้าร่วม เช่น เขาควรแต่งกายตามสบายได้หรือไม่ (เช่นถ้าเป็นการอบรม) หรือควรเตรียมเงินไปด้วยหรือไม่ ส่วนคำถาม “ทำไม” ควรมาจากประเด็นพูดของคุณ
- อย่าลืมตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้ซ้ำหลายๆ ครั้ง ก่อนที่จะไปขั้นตอนต่อไป คุณต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้ในรูปแบบอื่นๆ สำหรับการเข้าหามวลชนด้วย ดังนั้นจึงต้องทำให้ถูกต้อง
แหล่งข้อมูล
หนังสือ
- Spin Work โดยโรเบิร์ต เบรย์
- Making the News โดยซาลซ์มาน
เว็บไซต์ Activist Guide to Exploit the Media โดย จอร์จ มงเบียต
ผู้แปล: ลภาพรรณ ศุภมันตา
แปลจาก “mass action handbook: getting your community on the road and into the street”, http://www.uproot.info/actionhandbook/index.html
Photo by Matt Chesin on Unsplash