คำนิยมจากผู้อ่านท่านหนึ่ง | หนังสือ ล่องแพในกระแสเชี่ยว สำนักพิมพ์ของเรา Protestista 2558

ผมเพิ่งอ่านหนังสือเล่มนี้จบด้วยความตื่นตาตื่นใจ สาระของหนังสือทำให้ผมต้องอ่านอย่างช้าๆเพื่อใช้เวลาย่อยเนื้อหาทีละส่วน ทั้งที่สายตามีข้อจำกัด ในขณะที่ผมเขียนคำนิยมนี้ ผมยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าผมย่อยเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ได้หมดหรือยัง

ให้ผมเล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเองสักหน่อย เพื่อผู้อ่านจะได้ให้น้ำหนักเรื่องที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ได้ถูก อาชีพผมเป็นที่ปรึกษาการพัฒนาและบริหารองค์กร ผมเคยทำงานให้กับบริษัทธุรกิจค้ากำไร ต่อมาทำงานให้องค์กรช่วยเหลือระหว่างประเทศ ระยะหลังนี้ ผมผันตัวเองมาทำงานให้องค์กรพัฒนาเอกชนในไทยเสียเป็นส่วนใหญ่

ผมเริ่มศึกษางานพัฒนาองค์กรและเสริมศักยภาพสถาบันตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัย ตำราส่วนใหญ่สมัยนั้นเป็นภาษาอังกฤษเน้นการประยุกต์องค์กรเชิงอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาสู่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเอกชน เช่น Alfred Sloan กับ General Motors หรือ Peter Drucker กับ IBM เป็นต้น ผมพบว่า ผมไม่ค่อย “อิน” เท่าไรกับทฤษฏีต่างๆเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องการให้รางวัลและการลงโทษเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม “ลูกจ้าง” โดยไม่ได้พิจารณาความเป็นมนุษย์เอาเสียเลย และผมก็ไม่เชื่อว่า มันจะประยุกต์ใช้ได้กับวัฒนธรรมตะวันออกได้ด้วย

ต่อมาก็มีทฤษฏีใหม่ๆเกี่ยวกับองค์กรเกิดขึ้น เช่นว่า องค์กรไม่ใช่สถานที่ใช้อำนาจเพื่อการผลิตแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นที่ซึ่งคนทำงานต้องมีความสุขด้วย ของ Edwards Deming แนวคิดนี้ ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของลูกจ้างจนกลายเป็นพื้นฐานของเทคนิคและเครื่องมือทางอุตสาหกรรมหลายต่อหลายอย่าง เช่น PDCA, QC, JIT, TQM เป็นต้น (ผมไม่อธิบายนะครับ กูเกิลเอาดีกว่า) ซึ่งยังคงใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน นอกจากนั้นก็มี Tom Peters กับ Robert Waterman, Jr กับหนังสือ In search of Excellence และ Randall Stross กับหนังสือ The Microsoft Way ที่โด่งดังมาก ถึงแม้ผมจะชอบทฤษฏีแนวนี้มากกว่า แต่พอผมเริ่มทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่มุ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ผมก็ว่ามันยัง”ไม่โดนใจ”เสียเลยทีเดียว เหตุผลหลักคือว่า เป้าหมายของมันยังอยู่ที่ประสิทธิผลองค์กร และ เป้าประสงค์ลึกๆ คือการรีดประโยชน์สูงสุดของพนักงานอีกนั้นแหละ ส่วนองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศนั้น เห็นจะไม่ต้องพูดถึงมาก เพราะดูจะมุ่งเน้นการควบคุมตรวจสอบ หรือการกำกับดูแล ผ่านระบบรายงานที่วางอย่างรัดกุมเสียเป็นส่วนใหญ่

พอผมมาทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ เอ็นจีโอ เต็มตัว ผมพบว่าบริบทขององค์กรเหล่านี้ ต่างกับทางธุรกิจและองค์กรระหว่างประเทศมาก ทั้งแรงดลใจในการทำงานของพนักงานก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง หนังสือ ทฤษฏี หลักการ ดังกล่าวข้างต้นใช้ไม่ได้เสียแล้ว จะมีก็แต่หนังสือ The Fifth Discipline ของ Peter Senge เท่านั้น ที่ผมแอบใช้เป็นครั้งคราว องค์กรเอ็นจีโอที่ผมสัมผัสเหล่านี้มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ตนเชื่อและศรัทธา ส่วนโควตา ผลกำไร หรือเงินปันผล กลับไม่ใช่แรงจูงใจหรือประเด็นสำคัญ การตัดสินให้คะแนนระหว่างกันไม่ใช่อยู่ที่ผลงาน ฝีมือ หรือตัวเลขที่ทำได้ แต่อยู่ที่การวางกระบวนการอย่างรอบคอบ และการระวังระไวเอาใจใส่ต่อเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงมากกว่า

หลายต่อหลายครั้ง ที่บทเรียนและการเรียนรู้จากความผิดพลาดมีค่ายิ่งกว่าตัวผลสำเร็จเองเสียอีก ที่สำคัญที่สุด คือการใส่ใจในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ซึ่งมักจะเลือนหายในโลกธุรกิจและองค์กรช่วยเหลือระหว่างประเทศ และศักดิ์ศรีนี้อิงอยู่กับความอ่อนไหวต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างยิ่งยวด ในบริบทการทำงานแบบนี้ ผมพบว่า การใช้หลักการหรือทฤษฏีเกี่ยวกับองค์กรที่พัฒนามาแบบเก่าดั้งเดิมนั้นมีข้อจำกัดมาก หลายครั้งที่คำศัพท์และนิยามต่างๆยังใช้ไม่ได้เลย ตัวอย่างเช่น ลูกค้า (client/customer) ผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) สายงาน (rank & file) ผู้ได้รับประโยชน์ (beneficiary) เป็นต้น ทำให้ผมเชื่อว่า หากจะทำงานประเภทนี้ให้ได้ผล จำเป็นต้องพัฒนาชุดภาษาและความคิดขึ้นมาใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพัทธ์แบบใจถึงใจของคนทำงานมากกว่าระเบียบปฏิบัติหรือการรายงานตามขั้นตอน

อย่างใดก็ดี ในงานเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น จะถึงจุดๆหนึ่งที่ ภารกิจงอกเงยขยายตัว จำนวนคนเพิ่มขั้น ปัญหาสลับซับซ้อนขึ้น ดังนั้น ความเป็นองค์กรก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ การวิวัฒนาการขององค์กรในบริบทนี้ ผมกลับพบว่า เชื่องช้า และมีอุปสรรค การรับเอาโครงสร้างองค์กรแบบสำเร็จรูปและกระบวนการบริหารทางธุรกิจมาครอบเลยทันที มักได้รับการต่อต้านจากแรงเสียดทางภายใน บางทีก็ปฏิเสธเลยด้วยซ้ำ สาเหตุเป็นเพราะ บ้างก็ด้วยอคติ บ้างก็ด้วยความไม่มั่นคงภายใน บ้างก็ด้วยความเคยชินกับระบบเดิม เป็นต้น ผมพบเหตุการณ์เหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก หลายครั้งหลายหน จะทำให้ผมตั้งคำถามกับความรู้ของตัวเองมากทีเดียว แต่ในจังหวะที่ผมขวนขวายหาคำตอบนี้เอง ก็มีคนหยิบยื่นหนังสือ “ล่องแพในกระแสเชี่ยว” ให้อ่าน หนังสือเล่มนี้ ไม่เพียงแต่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรที่ดำรงความเป็นมนุษย์เท่านั้น ยังให้เทคนิคและเครื่องมือสำหรับการนำไปปฏิบัติจริงอีกด้วย ผมนึกขอบคุณผู้เขียน ผู้แปล สำนักพิมพ์ และผู้ทีหยิบยื่นหนังสือเล่มนี้ให้ผมอ่านเป็นกำลัง จึงตัดสินใจเขียนคำนิยมนี้โน้มน้าวผู้อ่านท่านอื่นๆที่สนใจให้หาอ่านด้วย

ธีรวัฒน์ ตันติวิรมานนท์
เมษา ๒๕๕๘

ล่องแพในกระแสเชี่ยว
ล่องแพในกระแสเชี่ยว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • สถิติการเข้าใช้งาน

    เราเก็บข้อมูล IP Address เพื่อวัดสถิติการเยี่ยมชม

บันทึกการตั้งค่า